Saturday, 27 April 2024
ECONBIZ NEWS

กระทรวงพลังงาน จับมือ ปตท. ร่วมเป็นเจ้าภาพงาน Future Energy Asia 2023 ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงาน และยานยนต์ ระดับภูมิภาคเอเชีย

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการและการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงทางพลังงานระดับภูมิภาค Future Energy Asia 2023 โดยมีนายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมกล่าวปาฐกถาเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) คาดการณ์สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท. ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเตรียมพร้อมรับความท้าทาย ตามวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน สู่การดำเนินธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต อาทิ การลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงาน ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจไฮโดรเจน รวมถึงเร่งการดำเนินงานในธุรกิจ LNG ที่จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอีกด้วย

นักธุรกิจจีน ติดใจลำไยไทย หลังบุกชิมถึงสวน เตรียมซื้อส่งขายเมืองจีน

(ราชบุรี) นายกุลฑล ปูรณวัฒนกุล ประธานเครือข่ายธุรกิจธุรกิจ Biz Club ประเทศไทย ได้นำ ดร.ไช ชิงตัน นักธุรกิจชาวมาเลเซีย และนักธุรกิจชาวจีน พร้อมคณะเดินทางมาเยี่ยมชมสวนลำไย ที่วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผลไม้ปลอดภัยจากสารพิษเพื่อส่งออก ตั้งอยู่เลขที่ 26/1 หมู่ 2 ตำบลวัดแก้ว อำเภอบางแพ จังหวัดราชุบรี ของนายประยูร วิสุทธิไพศาล เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2554 บนเนื้อที่กว่า 130 ไร่ ปลูกชมพู่ มะพร้าวน้ำหอม และลำไย

ซึ่งได้ทำออกนอกฤดูส่งขายช่วงเทศกาลตรุษจีน ปีนี้เทศกาลตรุษจีนมาเร็วกว่าปีที่แล้ว ทำให้ยังคงมีผลผลิตลำไยอยู่อีกจำนวนหนึ่งกำลังออกผลผลิตเต็มต้น รสชาติหวานกรอบ เนื้อแห้ง เมล็ดลีบ เก็บผลผลิตส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ คาดว่าปีนี้ได้ผลผลิตประมาณ 10–12 ตัน และยังส่งจำหน่ายในตลาดบางแห่งของประเทศด้วย

จากผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้คณะนักธุรกิจประเทศมาเลเซียและจีน เกิดความสนใจถึงกับเดินทางมานั่งเรือชมสวนลำไย พร้อมกับดูสภาพพื้นที่การปลูก ซึ่งทำเป็นลักษณะร่องสวน มีต้นลำไยปลูกอยู่บนร่องและอยู่ในช่วงกำลังเก็บผลผลิตได้แล้วอยู่เต็มต้น ได้ลองชิมกันสด ๆ จากต้น ผลผลิตที่ได้ปีนี้ดีมาก ผลมีขนาดใหญ่กลม เนื้อแห้ง เมล็ดลีบ หลังเก็บมาจากต้นก็จะนำมาตัดแต่งลูกเล็ก ๆ ออกไป คงเหลือไว้แต่ช่อที่มีผลใหญ่ ได้ขนาดเตรียมบรรจุลงกล่องโฟมส่งจำหน่ายลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ด้วยผลผลิตมีคุณภาพดี ทำให้มียอดสั่งจองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งนายกุลฑล ปูรณวัฒนกุล ประธานเครือข่ายธุรกิจธุรกิจ Biz Club ประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยได้เปิดประเทศแล้วมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว ซึ่งตลาดใหญ่อยู่ที่ต่างประเทศ จึงพานักธุรกิจจากประเทศจีนที่ทำธุรกิจสินค้าอยู่ที่ประเทศจีน มาชมบรรยากาศการปลูก และผลิตผลไม้ที่ราชบุรี เพื่อให้นำไปเล่าต่อกับเพื่อนธุรกิจและนำสินค้าของเกษตรกรไปจำหน่ายที่ประเทศจีนต่อไปในอนาคตได้

ด้านดร.ไช ชิงตัน นักธุรกิจชาวมาเลเซีย กล่าวว่า เห็นว่าทุกคนทำงานมีชีวิตชีวา และยังได้ไปล่องเรือไปสัมผัสด้วยตัวเอง ชินกับรสชาติลำไยนี้ด้วยอร่อยมาก ลูกใหญ่ มีความหวาน รสชาติแบบนี้หาที่ไหนไม่ค่อยได้ ไม่เจอที่อื่นเลย ปกติบางครั้งจะเจอแบบมีน้ำแฉะ แต่ลำไยที่สวนนี้จะสวยงาม เวลากินเข้าไปแล้วจะกรอบเหมือนกินแอปเปิ้ล ตอนนี้พยายามจะส่งไปที่ประเทศจีน ตัวนี้ถือว่าเป็นคุณภาพที่ดีมากและยังปลอดสารพิษด้วย

‘ปตท.’ มุ่งต่อยอด ‘ขยะ’ สู่วัสดุทดแทนที่มีคุณค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม - สอดคล้อง BCG Model

ปตท. มุ่งพัฒนาศักยภาพ 'ขยะ' ต่อยอดเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ร่วมขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ (BCG Model) ของประเทศไทย

จากวัสดุเหลือทิ้ง หรือ ‘ขยะ’ ที่ถูกมองข้าม ปตท. โดยทีมนักวิจัย จากสถาบันนวัตกรรม และ บริษัท เอช จี เนกซ์ จำกัด จับมือร่วมพัฒนาต่อยอดจนได้ทางออกที่สมบูรณ์ให้กับผู้ที่อยากเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นทรัพยากรทดแทนที่มีคุณค่า เติมเต็มช่องว่างของการค้นหาทรัพยากรใหม่ ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดในปัจจุบัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดพิธีเปิดงานนิทรรศการ ‘Waste is MORE’ โดยมี นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นให้เห็นถึงมิติของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านการพัฒนาศักยภาพของ ‘ขยะ’ ที่ถูกมองว่าไร้ค่า ให้กลายเป็นวัสดุทดแทนที่ ‘ไม่ไร้ค่า’ อีกต่อไป โดย ปตท. พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันศักยภาพของนวัตกรรมการวิจัย และการออกแบบของคนไทย ให้เติบโตไปแข่งขันในเวทีระดับโลก ทั้งยังคำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปตท. ร่วมแก้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 หนุนพนักงาน Work from Home

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.66 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)  กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ทำให้ฝุ่นละอองสะสมตัวมากขึ้น และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานของคนไทย เราตระหนักถึงปัญหาจึงมีนโยบายให้พนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, นครราชสีมา, พระนครศรีอยุธยา, ระยอง, ราชบุรี และขอนแก่น ปฏิบัติงานในที่พัก (Work from Home) ระหว่างวันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อร่วมลดผลกระทบที่เกิดจากการสัญจร

ทั้งนี้ ปตท. ยึดมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชม และสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งเร็วกว่าที่ประเทศกำหนด ด้วยกลยุทธ์เชิงรุก 'ปรับ เปลี่ยน ปลูก' ปรับกระบวนการผลิต ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด เปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน และธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ โดย ปตท. เป็นแกนหลักในการปลูก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ เพื่อเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ

กลุ่ม ปตท. ดันเทคโนโลยีดิจิทัล หนุน ศก.สร้างสรรค์ ช่วยขับเคลื่อนเสน่ห์ Soft Power ไทยสู่เวทีสากล

กลุ่ม ปตท. ร่วมขับเคลื่อน Soft Power ไทย ดันเทคโนโลยีดิจิทัลหนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมส่งออกคอนเทนต์ไทยคุณภาพสู่เวทีสากล จับมือพันธมิตรต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย สนับสนุน ‘ระบบนิเวศสร้างสรรค์’ ผ่านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ มุ่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้ได้มาตรฐานสากล รองรับการผลิตคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลก เพื่อพัฒนารายได้และคุณภาพชีวิตคนไทย ยกระดับเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.66 นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการแพร่ขยายอิทธิพลทางค่านิยม หรือ วัฒนธรรม ที่นานาประเทศผลักดันให้เป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

ปตท. เล็งเห็นถึงโอกาสของการต่อยอดแนวคิดดังกล่าว เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานให้พร้อมรับการแข่งขันบนเวทีโลก ด้วยวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” จึงจัดตั้งโครงการ Soft Power for Better Thailand ขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทย หรือ 'เสน่ห์ไทย' ที่เกิดจากวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีปฏิบัติอันเป็นภูมิปัญญาของประเทศไทย ที่อยู่ในความสนใจของชาวต่างชาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจที่จะสามารถดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อขยายฐานอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Industry) ในประเทศไทย ที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ปตท. จับมือพันธมิตรภาคส่วนต่างๆ ทั้งจาก บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) บริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านซอฟท์พาวเวอร์ ผ่านการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ภายใต้แนวคิด TECH CREATE FUN คือ การนำเทคโนโลยี (TECH) เช่น Virtual Reality, Augmented Reality, Drone และ Metaverse เป็นต้น มาเสริมศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน (CREATE) เช่น ภาพยนตร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ หรือ งานศิลปะ เพื่อให้ทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงานและผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีขึ้น (FUN) รวมไปถึงยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ในการจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทย ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากร การสนับสนุนด้านทรัพยากรและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยมียุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่...

ปตท. หนุนกิจกรรม ‘เดิน-วิ่ง OLYMPIC DAY 2023’ กระตุ้นคนไทยรักสุขภาพ - กระจายรายได้สู่ภูมิภาค

ปตท. ส่งเสริมสุขภาพคนไทย พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนกิจกรรมเดิน-วิ่ง OLYMPIC DAY 2023 ใน 4 จังหวัด

(2 ก.พ. 66) นางกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ร่วมงานแถลงข่าวพร้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรม ‘เดิน - วิ่ง OLYMPIC 2023’ ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิระ รองประธานกรรมการ โอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายกีฬาเพื่อมวลชนและสิ่งแวดล้อม ประธานจัดการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ

ชวนเที่ยว 'ตลาดบ้านสวนคลองตาจ่า' ตลาดชุมชนใกล้เมืองกรุง จำหน่ายสินค้าเกษตรไร้สาร - อาหารคาวหวานราคาย่อมเยา

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ชวนเที่ยวตลาดบ้านสวน ชุมชนคลองตาจ่า จังหวัดสมุทรสงคราม จำหน่ายสินค้าชุมชนราคาถูก สร้างรายได้ให้คนในชุมชนผ่านช่องทางการจำหน่ายผลผลิตและสินค้าของชุมชน มีราคาตั้งแต่ 2.50 -40 บาทเท่านั้น

“ตลาดบ้านสวนคลองตาจ่า” จำหน่ายอาหารคาวหวานและสินค้าชุมชนราคาถูก เพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชนผ่านช่องทางการจำหน่ายผลผลิตและสินค้าของชุมชน ณ ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนเกษตรวิถีใหม่ ร่วมใจพัฒนาบ้านคลองตาจ่า โดยเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนนำผลผลิต สินค้า หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรมาจำหน่ายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ของทุกสัปดาห์

นางดุษฎี วรรณศิลป์ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรวิถีใหม่ ร่วมใจพัฒนาบ้านคลองตาจ่า กล่าวว่า “ตลาดบ้านสวนคลองตาจ่า” เกิดจากความร่วมมือกันของคนในชุมชน หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จึงต้องการนำเสนอความเป็นตัวตนของชาวบ้านคลองตาจ่า ซึ่งเป็นชุมชนที่นำผลผลิตจากการเพาะปลูกพืชผักผลไม้ปลอดสารพิษมาจำหน่าย และสร้างตลาดโดยไม่มีการปรุงแต่ง

รวมทั้งสินค้าทุกชนิด มีการบอกเล่าความเป็นมา และตัวตนของชาวชุมชนคลองตาจ่า ซึ่งมีการสืบทอดต่อมาจากคนรุ่นก่อน เช่น ขนมจีนที่กำเนิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หรือขนมขี้หนูที่กำเนิดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้น

ชาวสวนราชบุรี ปิ๊งไอเดีย! นำมะพร้าวน้ำหอมตกเกรดมาเป็นไอแปรรูปศครีม หอม หวาน อร่อย สดใหม่จากสวน

วันนี้ (27 ม.ค. 66) ที่สวนมะพร้าวน้ำหอมของลุงชะเอม เชวงโชติ อายุ 84 ปี ตั้งอยู่เลขที่  191/6 หมู่ 3 ตำบลโคกหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ปลูกมะพร้าวน้ำหอมไว้ประมาณ 1,400 ต้น หรือประมาณ 35 ไร่ โดยมีนางสาวชนัญญา เชวงโชติ หรือน้องกุ้ง วัย 40 ปี ลูกสาวของลุงชะเอม ได้เป็นสืบทอดให้เป็นผู้ดูแลสวนจากผู้เป็นพ่อ พยายามปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ปลูกพืชแบบผสมผสาน หวังเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้แก่ครอบครัว

สำหรับมะพร้าวน้ำหอมที่มีการจำหน่ายส่งตามโรงงานตามรอบการตัดทุก 20 วันแล้ว ก็จะมีบางลูกที่ไม่ได้ขนาดไซซ์ ทำให้น้องกุ้งมีแนวคิดนำน้ำมะพร้าวมาแปรรูปทำเป็นไอศครีมมะพร้าวน้ำหอมขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยทดลองนำส่วนผสมตามสัดส่วนตามความคิดของตัวเอง จนได้ไอศครีมมะพร้าวน้ำหอมที่มีเนื้อมะพร้าวผสมไปด้วย ทำให้มีรสชาติหวานมัน หอมชื่นใจ ไม่ใส่น้ำตาลปรุงแต่ง

ซึ่งนางสาวชนัญญา เชวงโชติ หรือน้องกุ้ง ได้เล่าให้ฟังว่า ที่สวนจะปลูกมะพร้าวน้ำหอมไว้หลายไร่ จะมีลูกที่ไม่ได้ขนาดถูกคัดทิ้ง หรือตกเกรด ทำให้ส่งโรงงานไม่ได้ ก็เลยคิดว่าน่าจะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นน่าจะดีกว่า จึงนำมาทำเป็นไอศครีมมะพร้าวน้ำหอม การทำก็ไม่ยาก เพราะมีมะพร้าวน้ำหอมเป็นต้นทุนที่ดีมากอยู่แล้ว ใช้มะพร้าวนำไปต้มกับใบเตยหอม และใส่กะทิแบบใช้หัวกะทิล้วน ๆ นำมาผสมกับน้ำมะพร้าวที่ต้มไว้ เสร็จแล้วก็นำไปเทลงในเครื่องปั่นประมาณ 15 นาที ก็จะได้เป็นไอศกรีมมะพร้าวน้ำหอมที่ไม่หวานมาก ไม่ใส่น้ำตาล

พ่อค้าก๋วยเตี๋ยวหัวใส แต่งเป็นสไปเดอร์แมน เดินขายสับปะรดภูแล นำเงินซื้อวัตถุดิบมาขายก๋วยเตี๋ยวต่อ

(อ่างทอง) พ่อค้าก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ แต่งตัวสไปเดอร์แมนเดินขายสับปะรดภูแลในตลาดอ่างทอง ช่วงเช้าระหว่างมาซื้อวัตถุดิบกลับร้าน เพื่อทำก๋วยเตี๋ยวขาย เผยเป็นการสร้างจุดขายเสริมรายได้ ดูแลครอบครัว

วันที่ 26 ม.ค. 2566 ที่ตลาดสดเทศบาล 2 ตำบลตลาดหลวง อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง พบสไปเดอร์แมนเดินขายสับปะรดภูแลให้ชาวบ้านที่มาซื้อของภายในตลาด สร้างสีสันให้แก่พ่อค้าแม่ค้าภายในตลาด ที่ได้พบเห็นสไปเดอร์แมนเดินถือถุงสับปะรดภูแล ที่หวานกรอบ ขายในราคาถุงละ 30 บาท และ 60 บาท เจ้าหน้าที่เทศกิจ และชาวบ้านที่พบเห็นต่างชื่นชอบที่นำสับปะรดมาขายเสริมรายได้ระหว่างมาซื้อสินค้าภายในตลาด

อำนาจละมุน! วธ.ปลุกพลัง 'Soft Power ไทย' โกยรายได้ ภูมิใจในความเป็นชาติ ชูวัฒนธรรม สร้างภาพลักษณ์ประเทศ

(กรุงเทพฯ) 'Soft Power' หรือ 'อำนาจละมุน' เป็นแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยใช้ความสามารถในการชักจูงใจ ทำให้ผู้อื่นมีความพึงพอใจหรือเต็มใจเปลี่ยนพฤติกรรม ยอมรับ คล้อยตามสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้อำนาจ ซึ่ง ณ วันนี้ เกือบทุกประเทศทั่วโลก ได้นำแนวคิด Soft Power มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้อย่างมหาศาล

(24 มกราคม 2566) สำหรับประเทศไทยมีการใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้าง Soft Power โดยรัฐบาลมีนโยบายผลักดัน Soft Power ความเป็นไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ อาหาร (Food), ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film), ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion), มวยไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณี (Festival) สู่ระดับโลก เพื่อช่วยสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ

โดยแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รมว.วัฒนธรรม เป็นรองประธาน และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรรมการ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขา ในการกำกับนโยบาย กำหนดเป้าหมายและวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา Soft Power เพื่อส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไปสู่นานาประเทศ

พร้อมกันนี้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรม การขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการในมิติทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม ยกระดับสถานะของงานวัฒนธรรม สร้างรายได้และคุณค่าทางสังคม สร้างภาพลักษณ์และความร่วมมือ ของผู้คนในประชาคมโลกบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เล่าว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรมจะจัดทำแผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ.2566-2570) ได้แก่ การกำหนดจุดยืนด้าน Soft Power ของประเทศไทย การสังเคราะห์แบรนด์ประเทศไทย และการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ บนฐานข้อมูลเชิงสังคมและเศรษฐกิจที่จำเป็น อาทิ การถอดรหัสอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการเฟ้นหาทุนทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ การบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน Soft Power อย่างยั่งยืน การจัดทำนโยบายและมาตรการใหม่ ๆ ที่ยกระดับ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคศิลปวัฒนธรรมของไทยในระดับสากล การจัดทำและพัฒนาสถิติ ดัชนี ตัวชี้วัดด้านวัฒนธรรม ทั้งในมิติสังคมและเศรษฐกิจให้มีมาตรฐาน กำกับ ติดตาม และประเมินประสิทธิภาพของการนำแผนและนโยบายไปปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อน Soft Power ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) และแผนที่เกี่ยวข้องทุกระดับ


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Klang Time Thailand
Take Me Top